• 23 พฤศจิกายน 2024

นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน แถลงข่าวเรื่องโครงการดิจิทัล วอลเล็ต

 นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน แถลงข่าวเรื่องโครงการดิจิทัล วอลเล็ต

“โครงการ Digital Wallet ไม่ใช่แค่ความฝัน แต่กำลังเป็นความจริงครับ”  รัฐบาลได้หาข้อสรุปที่ดีที่สุดในการกระตุ้นและสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ผ่านการเติมเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจมูลค่า 6 แสนล้านบาท ซึ่งจะอยู่ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้านบาท ครอบคลุม 50 ล้านคน และอีก 1 แสนล้านบาทในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ  และทุกอย่างที่ผมแถลงในวันนี้ จะยังต้องผ่านกระบวนการตามกฏหมาย และต้องมีมติของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะสรุปเป็น Final อีกครั้งนึง
 
ตัวเลขที่ท่านได้ยินไปเมื่อครู่นี้ เกิดจากการที่รัฐบาลรับฟังความเห็นจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒน์ และหน่วยงานอื่นๆ  ทำงานร่วมกัน และปรับเงื่อนไขโครงการดิจิทัลวอลเล็ตให้รัดกุมขึ้น  โดยรัฐบาลจะมอบสิทธิการใช้จ่าย 10,000 บาท ให้คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้ไม่ถึง 7 หมื่นบาทต่อเดือน และมีเงินฝากต่ำกว่า 5 แสนบาท  เพื่อความชัดเจน ประโยคนี้แปลว่า ถ้ารายได้เกิน 7 หมื่นบาท แต่มีเงินฝากน้อยกว่า 5 แสนบาท ก็จะไม่ได้รับสิทธิ  หรือ ถ้ารายได้น้อยกว่า 7 หมื่นบาท แต่มีเงินฝากมากกว่า 5 แสนบาท ก็จะไม่ได้รับสิทธิเช่นกัน  โดยให้สิทธิใช้ครั้งแรกในเวลา 6 เดือนหลังจากโครงการเริ่ม  และขยายพื้นที่การใช้จ่ายให้ครอบคลุมระดับอำเภอ ตามที่ได้รับฟังความเห็นมา  พร้อมๆกันนั้น เราจะใช้เงินในการเพิ่มขีดความสามารถ  ภายใต้งบ 1 แสนล้านบาท และส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ  เช่น เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมดิจิทัล เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การพัฒนาบุคคลากรทางการศึกษา เป็นต้น  ซึ่งกองทุนนี้จะใช้ในการดึงดูดผู้มีความสามารถให้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้ต่อเนื่องต่อไป  ผมยังยืนยันความตั้งใจที่จะให้คนไทยทุกคนมีส่วนร่วมในการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้  เพราะฉะนั้น รัฐบาลจะออกโครงการ e-Refund ให้คนไทยสามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลจากการซื้อสินค้าและบริการมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท  โดยให้ใบกำกับภาษี มาประกอบการยื่นภาษีบุคคล และรัฐจะคืนเงินภาษีให้ท่าน เพราะฉะนั้น คนที่ไม่ได้รับสิทธิ Digital Wallet ก็สามารถเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการนี้ได้ และจะทำให้ร้านค้าเข้าระบบภาษีดิจิทัลมากขึ้นด้วย

โครงการดิจิทัล วอลเล็ต

โดยสรุป นโยบายทั้งหมดนี้จะส่งผลดีต่อประเทศใน 2 ด้าน

  • หนึ่ง กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในระยะสั้นโดยมี “ประชาชนทุกภาคส่วนเป็นกลไกที่สำคัญผ่านการบริโภคและการลงทุน”
  • สอง วางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและ E-Government ซึ่งเป็นการวางและแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศในระยะยาว

ย้ำอีกครั้งนะครับ นี่ไม่ใช่การสงเคราะห์ประชาชนผู้ยากไร้  แต่เป็นการเติมเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจผ่านสิทธิการใช้จ่าย เพื่อให้ประชาชนมีบทบาทร่วมกับรัฐบาล (Partnership) ในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะที่ยังรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐทุกประการ  ผมขอให้ประชาชนทุกคนที่ได้รับสิทธิร่วมกันใช้จ่ายด้วยความภาคภูมิใจ  โดยทุกคนล้วนเป็นผู้ร่วมสร้างการเจริญเติบโตและความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศของเรา

ที่ผมกล่าวไปเมื่อกี้ทั้งหมดคือเนื้อหาสรุป และหวังว่าทุกท่านจะได้เข้าใจภาพรวมเบื้องต้น ผมจะใช้เวลาต่อจากนี้ในการขยายความเพิ่มเติมส่วนของเนื้อหา เหตุผล หลักการณ์ และตอบคำถามที่ทุกท่านและสังคมอาจมีข้อสงสั ผมขอให้ตั้งใจฟัง ดู Presentation ประกอบ ไม่ต้องจด เดี๋ยวจะมี Press kit แจกให้หลังจากที่ผมพูดจบ

ที่มาที่ไปของโครงการนี้ เกิดจากสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการเจริญเติบโตเพียง 1.9% โดยเฉลี่ย 1.9% เป็นตัวเลขการเติบโตที่น้อยมากๆ  และเราโตน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านมาโดยตลอดแทบจะทุกปี  ความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในแล้วในสังคม ก็ส่งผลให้เกิดการฟื้นตัวจากช่วงวิกฤตโควิดแบบ K-shaped recovery หมายความว่า คนจนที่ลำบากอยู่แล้ว ได้รับความลำบากมากยิ่งขึ้นไปอีก แต่คนที่มีฐานะ จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเรื่อยๆ  คนรวย 20% บนสุดกับคนจน 20% ล่างสุด มีรายได้ต่างกัน 9 เท่า  ยังไม่นับสถานะการณ์การเข้าสู่สังคมสูงวัย ที่จะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการและสาธารณสุขเพิ่มขึ้น ซึ่งจะกระทบคนกลุ่มนี้อย่างชัดเจนลักษณะการฟื้นตัวแบบ K-shaped นี้ จะตอกย้ำให้ความเหลื่อมล้ำให้แย่ลงไปอีก  ยิ่งไปกว่านั้น หนี้ครัวเรือนของประเทศไทยอยู่ในระดับที่สูง คิดเป็น 91% ของ GDP  หนี้เหล่านี้ เป็นหนี้ที่ไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้ ไม่ได้นำไปใช้ลงทุนค้าขาย ส่วนมากเป็นหนี้เพื่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะแย่ลงไปอีก ถ้าไม่ได้รับการแก้ไข ถ้าประชาชนไม่ได้มีรายได้ที่มากขึ้น

โครงการดิจิทัล วอลเล็ต


เมื่อพูดถึงรายได้ของประชาชน ก็ต้องพูดถึงนายจ้าง ภาคการผลิตด้วย  จากข้อมูลสถิติระบุว่า อัตราการผลิตของประเทศลดลง และก็อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพที่ประเทศเราสามารถทำได้  พูดง่ายๆคือ โรงงานในประเทศไทยเดินเครื่องผลิตสินค้าไม่เต็มที่  เมื่อผลิตน้อย ก็ต้องการคนไปทำงานน้อย  บางคนก็ตกงาน ทำให้มีรายได้น้อยลง ซื้อสินค้าน้อยลง วนกลับไปที่โรงงานก็ผลิตสินค้าน้อยลงไปอีก การลงทุนในภาคเอกชนก็จะน้อยลงไปเรื่อยๆ ตามที่เห็นมาตลอด 3 ไตรมาสที่ผ่านมา  เกิดเป็นวงจรถดถอยทางเศรษฐกิจ หากไม่ได้รับการกระตุ้นแก้ไข  สภาวะสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียที่ยาวนานต่อเนื่อง ที่ไม่รู้จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ซ้ำเติมด้วยสถานการณ์การสู้รบในบริเวณอิสราเอลและฉนวนกาซ่า ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ในจุดเปราะบาง  นี่ไม่ใช่ปัญหาแต่ของประเทศไทยอย่างเดียว ที่กระทบการส่งออก  แต่ตลาดทั่วโลกเอง ก็ได้รับผลกระทบจากสถาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยและตกต่ำเกินเยียวยา  เศรษฐกิจของประเทศในตอนนี้ เม็ดเงินในระบบเหือดหายอยู่แล้ว ซ้ำเติมด้วยเศรษฐกิจใต้ดินที่เติบโตอย่างน่ากลัว จนทำให้เงินยิ่งหายไปจากระบบจำนวนมากและตามเก็บภาษีไม่ได้  ดังนั้น ถ้าเราไม่เติมเงินใหม่เข้าไป จะไม่มีเงินหมุนเวียนเพียงพอ ประชาชนก็ไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย กำลังซื้อก็ถดถอย  การบริโภคในประเทศจะตกต่ำลงไปอีก  แต่เมื่อเราเติมเงินในกระเป๋าของประชาชน ให้ประชาชนช่วยกันมาใช้เงิน ซื้ออาหารมากินก็ได้ ซื้อสินค้ามาลงทุนก็ดี เงินยิ่งหมุนไปหลายรอบ การค้าขายยิ่งคึกคัก ธุรกิจขนาดเล็กจะค่อยๆเติบโต หนี้สินจะค่อยๆ หมดไป
 
หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง เราก็ประสบความสำเร็จมาแล้วจากการส่งเสริมการจับจ่ายใช้สอยในประเทศด้วยการเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน  โดยทำควบคู่ไปกับการส่งออกและการท่องเที่ยว เราจึงฟื้นฟูเศรษฐกิจได้รวดเร็ว ทุกคนยิ้มแย้มสดใส มีรายได้ ความเหลื่อมล้ำก็ลดลง นโยบายการอัดฉีดเงิน ไม่ได้เป็นนโยบายที่แปลกประหลาด
ตัวอย่างอื่นในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น หรือเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ก็มีนโยบายที่คล้ายๆกัน ยกตัวอย่างของญี่ปุ่น เขาก็อัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเป็นจำนวน 13.2 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 3 ล้านล้านบาท  เลข 3 แล้วตามด้วยเลขศูนย์ 12 ตัวนะครับ แม้ว่าจะปรับตามค่าครองชีพและจำนวนประชากรแล้ว ก็ยังถือว่าเป็นก้อนเงินที่ใหญ่กว่าที่เราเคยพูดคุยกันมา  ทุกท่านจะเห็นว่ารัฐบาลต่างๆ ก็มีมาตรการหลายรูปแบบ โดยล้วนมีจุดประสงค์ที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาเจริญเติบโตต่อไปได้

โครงการดิจิทัล วอลเล็ต

รัฐบาลไทยเองก็จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการดำเนินโครงการ Digital Wallet 10,000 บาทที่เรากำลังพูดถึงในวันนี้  นโยบายนี้ คือการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบ ให้เข้าถึงทุกพื้นที่ ให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยหมุนเวียนภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว  เงินทั้งหมดในโครงการนี้ จะถูกส่งตรงไปให้กับประชาชนทุกคนที่ผ่านเงื่อนไขเข้าไปยังกระเป๋าเงินดิจิทัล  ขอบเขตการใช้งาน จะใช้ได้กับร้านค้าที่อยู่ในอำเภอเดียวกับบัตรประชาชนของท่าน ย้ำนะครับ “อำเภอ” ซึ่งปรับขยายมาตามความเห็นของทุกภาคส่วน และต้องจ่ายเงินกันแบบ Face-to-face  เรื่องของระยะเวลา 6 เดือนสำหรับการใช้ “ครั้งแรก” ก็ถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อให้เงินมีการหมุนเวียน และหากไม่ได้ใช้ สิทธิที่เหลืออยู่ก็จะถูกยกเลิกไปโดยอัตโนมัติ  และเงินที่ถูกใช้และเข้าไปอยู่ในระบบแล้ว จะสามารถใช้จับจ่ายต่อได้จนถึงเดือนเมษาปี 2570  เงินก้อนนี้ไม่ได้มาจากการเสกเงิน สร้างเงิน พิมพ์เงิน หรือออกเหรียญผ่าน Initial Coin Offering แต่อย่างใด. พูดให้ชัดๆว่า ไม่ได้มีการเขียนโปรแกรมสร้างเงินเหมือน Cryptocurrency ต่างๆ และไม่ได้เป็นการนำเงินไปซื้อเหรียญมาแจก. และนำไปเทรด แลกเปลี่ยน โอนให้กันและกัน เก็งกำไร ไม่ได้.
 
ย้ำนะครับ ไม่มีการนำไปเทรดบน Exchange ทั้งหลาย ตลาดหลักทรัพย์ ตลาด crypto ใดๆทั้งสิ้น. เงินตัวนี้จะมีที่มาจากเงินบาท และมีมูลค่าเป็นเงินบาท ที่มีเงื่อนไขในการใช้งาน เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจสูงกว่าอัดฉีดที่ผ่านมา. เพราะฉะนั้น  เงิน 1 บาทในโครงการนี่้ ก็คือ 1 บาทในกระเป๋าเงินของทุกท่าน ที่สามารถใช้จ่ายได้. โครงการนี้ต้องมีการลงทะเบียนรับสิทธิ ทั้งร้านค้า และยืนยันรับสิทธิโดยประชาชน