พร้อม ‘เข็น’ กฎหมายยุบ กอ.รมน. แต่นายกฯ ต้องไม่ปัดตก เปิดโอกาส สส. ไปว่ากันต่อในสภาฯ
ร่างกฎหมาย “ยุบ กอ.รมน.” อยู่ในชุดกฎหมายเปลี่ยนประเทศ ซึ่งพรรคก้าวไกลยื่นเข้าสภาฯ เป็นชุดแรกตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2566 ต่อมาประธานสภาฯ วินิจฉัยว่าเป็นร่างเกี่ยวด้วยการเงิน ทำให้ถ้าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนฯ ร่างต้องได้รับคำรับรองจากนายกรัฐมนตรี
.
หัวใจสำคัญของร่างกฎหมายนี้ คือเสนอให้มีการปฏิรูปกองทัพและระบบงานความมั่นคงของประเทศ สถาปนาหลักการประชาธิปไตยที่รัฐบาลพลเรือนเป็นใหญ่ ทำให้กองทัพอยู่ห่างออกจากการเมืองมากที่สุด และอีกด้านหนึ่งคือการเปิดโอกาสสำหรับการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
หลังจากเป็นกระแสในโลกออนไลน์ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่ามีคนเข้าไปแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายฉบับนี้หลักพันหลักหมื่นคน ในที่สุดเมื่อวานนี้ (31 ต.ค.) นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ก็แสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยกับการยุบ กอ.รมน. ไม่ได้อยู่ในความคิดของรัฐบาลนี้ “ให้เป็นเรื่องของพรรคนั้น ๆ เข็นเข้าสู่สภาเอง”
.
วันนี้ (1 พ.ย.) รอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย เชตวัน เตือประโคน สส.ปทุมธานี เขต 6 พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการทหาร คนที่หก จึงร่วมแถลงข่าวยืนยันความจำเป็นของการเสนอร่างกฎหมาย ยุบ กอ.รมน.
ความจำเป็นข้อใหญ่ๆ
.
(1) เพื่อทำให้ความมั่นคง ไม่ใช่เรื่องที่ถูกผูกขาดอยู่เพียงบทบาทและหน้าที่ของกองทัพเท่านั้น แต่ต้องเป็นเรื่องของประชาชน ถูกกระจายออกสู่มือของหน่วยงานพลเรือน ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐบาลพลเรือน
.
(2) เพื่อให้การบริหารราชการ มีความโปร่งใสและชอบธรรม เพราะที่ผ่านมามีข้อถกเถียงและข้อกล่าวหาต่อ กอ.รมน. จำนวนมาก เกี่ยวกับการใช้งบประมาณที่มากเกินจริงและไม่โปร่งใส
.
เช่น กรณีล่าสุดเรื่องบัญชีผี หรือกรณีปฏิบัติการทางทหารที่เกี่ยวกับเด็ก ที่ครั้งหนึ่ง กอ.รมน. เคยระบุในเอกสารงบประมาณถึงตัวชี้วัด คือการพยายามเปลี่ยนความคิดเด็กอายุ 1-5 ขวบ ซึ่งต้องถามว่าเป็นกรอบคิดแบบไหนที่มองเด็กเข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งแบบนั้น
.
ตั้งแต่อดีตพรรคอนาคตใหม่จนมาถึงพรรคก้าวไกล กอ.รมน. เป็นองค์กรที่ถูกตรวจสอบอย่างหนัก โดยเฉพาะปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (IO) เราพบว่าการพยายามด้อยค่าแพร่มลทินของ กอ.รมน. ส่งผลด้านกลับทำให้ผู้คนเกิดความไม่เชื่อมั่นต่ออำนาจรัฐ ปฏิบัติการเหล่านี้เป็นหนึ่งในงานการเมืองที่สำคัญ ถ้าเราปล่อยให้หน่วยงานภายใต้กรอบคิดแบบนี้ทำงานต่อไป จะจำกัดโอกาสและทางเลือกของสังคมไทยในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งและจุดบรรจบที่ลงตัวในทางการเมืองที่จะอยู่ร่วมกันระหว่างรัฐกับประชาชน
.
“เกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ทิศทางการคลี่คลายความขัดแย้งนำโดยวิธีคิดแบบทหาร ทั้งที่หน่วยงานความมั่นคง ควรมีหน้าที่และอำนาจจำกัดอยู่เพียงการรักษาบูรณภาพแห่งดินแดน ควรทำหน้าที่ของรั้ว ไม่ใช่เอารั้วเข้ามาในห้องนั่งเล่นในพื้นที่ของพลเรือน ถ้าเรามี กอ.รมน. ซึ่งเป็นองค์กรตกทอดจากยุคสงครามเย็น ที่มีมุมมองต่อประชาชนว่าเป็นภัยคุกคาม การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งจะทำได้ยากลำบาก”
[ ภาพลักษณ์รัฐบาลพลเรือนเสี่ยงมัวหมอง ถ้านายกฯ ไม่รับรองร่าง ]
.
ปัจจุบันร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกวินิจฉัยโดยประธานสภาฯ ว่าเป็นร่างเกี่ยวด้วยการเงิน ต้องให้นายกฯ ให้คำรับรองเพื่อให้มีการพิจารณาต่อในสภาผู้แทนฯ โดยการให้หรือไม่ให้คำรับรองนั้น อาจไม่เกี่ยวข้องกับท่าทีหรือจุดยืนว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการยุบ กอ.รมน. เพียงแต่เป็นการเปิดโอกาสให้กลไกทางรัฐสภาได้ทำหน้าที่ต่อไป
.
เพราะแม้แต่ในพรรคร่วมรัฐบาลก็อาจเห็นต่างกัน เช่น อดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ประธานวิปรัฐบาล รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ โดยเฉพาะ สส. จากพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้
.
จากประสบการณ์ของรอมฎอน เห็นว่านโยบายยุบ กอ.รมน. ได้รับเสียงตอบรับเยอะมาก แทบเป็นฉันทามติของผู้คนในพื้นที่ที่มีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษและอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของ กอ.รมน. ดังนั้น เชื่อว่าเพื่อนสมาชิก สส. ที่มาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจมีท่าทีที่เห็นต่างไปจากนายกฯ และเราควรรับฟังเหตุผลของเขา
.
“ถ้าท่านไม่ให้คำรับรอง อาจทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลพลเรือนที่ควรมีอำนาจเหนือกองทัพมัวหมอง ดังนั้นเพื่อยืนยันว่าท่านในฐานะ ผอ.รมน. และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีสิทธิอำนาจอย่างเต็มที่ ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลใด ก็น่าเปิดโอกาสให้ผู้แทนราษฎรได้ถกเถียงกัน ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องกลัว เพราะเราเถียงกันด้วยเหตุผลและสู้กันในการโหวต ซึ่งเป็นกลไกปกติของสภาผู้แทนราษฎร”
ชี้ช่องโหว่ เว็บรับฟังความเห็นประชาชน ]
รอมฎอนกล่าวต่อถึงช่องทางการรับฟังความเห็นของประชาชนต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ในเว็บไซต์สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ว่าเพิ่งตระหนักว่ากลไกของสภาฯ มีอิทธิพลมีพลังอย่างมาก จำได้ว่าเมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา เปิดดูเว็บไซต์ มีคนแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายนี้แค่ 2 คน!! หลายกฎหมายก็มักเป็นอย่างนี้
.
เลยลองโพสต์คลิปลงโซเชียลมีเดีย ถามผู้คนว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะยุบ กอ.รมน. หลังจากนั้นก็มีคนหลั่งไหลเข้ามาแสดงความคิดเห็นเยอะมาก เพิ่มขึ้นเป็นหลักพันหลักหมื่น จนตอนนี้ถือเป็นความสำเร็จของสภาผู้แทนฯ ที่มีคนเข้ามาดูร่างกฎหมายถึง 250,000 คน และมีคนแสดงความเห็นกว่า 46,000 คน โดยผลออกมาปรากฏว่าคะแนนไม่เห็นด้วยนำอยู่ ซึ่งถ้าความเห็นของสาธารณะเป็นแบบนี้จริง ในมุมของ กอ.รมน. และนายกฯ ก็ไม่ควรกังวลอะไร
แต่ประเด็นสำคัญคือ มีการตั้งข้อสังเกตในโลกออนไลน์อยู่พอสมควร
(1) ตัวคำถามในเว็บไซต์อาจกำกวม ทำให้คนที่เห็นด้วยกับการยุบ กอ.รมน. อาจจะตอบว่าไม่เห็นด้วย โดยเข้าใจว่าหมายถึงไม่เห็นด้วยกับ กอ.รมน. โดยจากที่ได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเครื่องมือนี้ ก็ยอมรับว่าอาจมีความเห็นในลักษณะนี้
(2) คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สะท้อนมาว่ารู้สึกไม่มั่นใจระบบ เพราะเว็บไซต์ต้องระบุเลขบัตรประจำตัวประชาชน เกรงว่าแสดงความเห็นแล้วจะมีผลกระทบกับเขาหรือไม่ เพราะหลายครั้งการสำรวจความคิดเห็นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะเรื่องล่าสุดคือการประเมินผลการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็มีแบบสอบถามลงไปในพื้นที่ ให้ระบุชื่อ ที่อยู่ ลงลายเซ็น ว่าเห็นด้วยกับการขยายหรือไม่
อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ ได้รับคำตอบว่าการระบุตัวตน จะเป็นข้อมูลลับ ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ และมีการจัดเก็บข้อมูลแยกส่วนจากความคิดเห็น
(3) ปัญหาโหวตซ้ำ ทำให้มีการประเมินว่าตัวเลขคนที่ไม่เห็นด้วยที่เข้ามาเยอะๆ อาจมาจากการโหวตซ้ำ ซึ่งตามข้อเท็จจริง ทางเจ้าหน้าที่ก็พบความเห็นที่มีลักษณะคล้ายการคัดลอกข้อความเหมือนๆ กัน
ถึงอย่างนั้น แม้ความเห็นของประชาชนที่เข้ามาจะมีความสำคัญมาก แต่ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร เหตุผลของการมีระบบนี้ คือการเปิดพื้นที่ เพื่อให้สภาฯ สามารถจัดทำเป็นเอกสารรายงานสรุปให้ สส. เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณากฎหมาย ทั้งนี้ รอมฎอนจะทำหนังสือถึงรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ซึ่งกำกับดูแลระบบงานนี้ เพื่อขอข้อมูลและคำชี้แจงเกี่ยวกับระบบอย่างเป็นทางการต่อไป
3 ทางเลือกนายกฯ เศรษฐา
หลังจากนี้ มีทางเลือกสำหรับนายกฯ เศรษฐา 3 ทาง
– ทางเลือกที่ 1 ให้คำรับรองร่างกฎหมายยุบ กอ.รมน. เพื่อเดินไปตามกลไกปกติ คุยกันต่อในสภา
– ทางเลือกที่ 2 จะด้วยแรงกดดันหรืออะไรก็แล้ว นายกฯ อาจไม่ให้คำรับรอง ซึ่งรอมฎอนทราบว่าขณะนี้มีคำแนะนำอย่างเป็นทางการจากทาง กอ.รมน. ส่งหนังสือไปยังเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ว่าไม่ให้นายกฯ รับรองร่างกฎหมายนี้
– ทางเลือกที่ 3 ปล่อยเกียร์ว่าง เพราะตามกฎหมายไม่ได้บอกว่านายกฯ ต้องส่งร่างกลับมาที่สภาฯ ภายกี่วัน ในสมัยอดีตนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีร่างกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงินที่ค้างไว้กว่า 40 ฉบับ
แต่ไม่ว่านายกฯ จะเห็นอย่างไร การยุบ กอ.รมน. ก็ยังเป็นวาระทางการเมืองที่สำคัญของรอมฎอนและของพรรคก้าวไกล ซึ่งหลังจากนี้อาจดำเนินการในอีก 2 ช่องทาง
– ช่องทางแรก คือการหยิบยกเรื่องนี้ไปคุยในคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ที่รอมฎอนเป็นกรรมาธิการ
– ช่องทางที่สอง คือการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยภาคประชาชน แม้ไม่ได้เป็นบทบาทโดยตรงของ สส. หรือของพรรคก้าวไกล แต่ก็มีโอกาสในการพบปะพูดคุยกับภาคประชาชนหรือนักวิชาการ เพื่อเพิ่มพื้นที่ถกเถียงเรื่องนี้
หรือจะเป็นอีกจุดเปลี่ยน ขยายบทบาท กอ.รมน.?
ด้านเชตวัน กล่าวว่า จากคำสัมภาษณ์ของนายกฯ หลังการประชุม กอ.รมน. เมื่อวานนี้ ที่บอกว่าไม่ได้พูดเรื่องยุบ กอ.รมน. มีแต่พูดเรื่องใช้ “ที่ดินกองทัพ” มาให้ประชาชนใช้ประโยชน์ นี่ก็ยิ่งหมายความว่ากองทัพเป็นแกนหลักอยู่ในองค์กรนี้ และอาจเป็นอีกครั้งหนึ่งที่จะขยายบทบาทของ กอ.รมน. มายุ่งเกี่ยวกับสาธารณะ กับประชาชนมากขึ้น
โดยก่อนหน้านี้ จุดเปลี่ยนแรกคือการมีกฎหมายรับรองออกมาหลังรัฐประหาร 2549 ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุฬานนท์ นั่นคือ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ซึ่งก็คือกฎหมายที่พรรคก้าวไกลได้เสนอร่างกฎหมายเพื่อจะไปยกเลิกนั่นเอง
จุดเปลี่ยนต่อมาหลังการรัฐประหาร 2557 คำสั่งหัวหน้า คสช.51/2560 แก้กฎหมายที่รับรอง กอ.รมน.ฉบับนี้ โดยได้นิยามความมั่นคงที่ให้ กอ.รมน. เข้าไปมีบทบาทมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบภัยคุกคาม, ภัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทั้งจากภายในและภายนอก รวมถึงภัยดังกล่าวที่อาจเกิดจากการกระทำของบุคคลหรืออาจเกิดจากธรรมชาติ
ดังนั้น ทางที่ดี แม้นายกฯ อาจไม่เห็นด้วยกับการยุบ แต่ควรให้เรื่องนี้ถูกนำมาพูดคุยถกเถียงกันในสภาผู้แทนราษฎร ว่าจะยุบหรือจัดที่จัดทางให้ กอ.รมน. องค์กรที่มีทหารเป็นแกนหลัก ที่มีอำนาจสารพัดในสาธารณะอย่างไร