กระทรวงดีอี – ดีป้า เปิดงาน Thailand Smart City Expo 2023
มหกรรมแสดงเทคโนโลยีนวัตกรรมดิจิทัลด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะระดับนานาชาติ พร้อมมอบรางวัลเจ้าของผลงานด้านการประยุกต์ใช้ดิจิทัลเพื่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงาน Thailand Smart City Expo 2023 ภายใต้แนวคิด ASEAN Convergence ที่จัดโดย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า และ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด พร้อมร่วมพิธีมอบรางวัลเจ้าของผลงานด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในโครงการประกวดระบบบริการเมืองอัจฉริยะดีเด่น ประจำปี 2566 (Smart City Solutions Awards 2023) และพิธีประกาศรายชื่อผลิตภัณฑ์ดิจิทัลสัญชาติไทยที่ได้รับตราสัญลักษณ์ dSURE โดยมี นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีดีอี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ นายสุรพล อุทินทุ กรรมการผู้จัดการ เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ และ นายนิติ เมฆหมอก นายกสมาคมไทยไอโอที ร่วมในพิธี
นายประเสริฐ เปิดเผยว่า แผนงานขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะประเทศไทยได้รับการบรรจุอยู่ในแผนการพัฒนา Mega Program พลิกโฉมประเทศไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลในการสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ (Thailand Competitiveness) เครื่องยนต์ที่ 1 ของนโยบายบริหารเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลไทย หรือ The Growth Engine of Thailand
นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า เมืองอัจฉริยะประเทศไทยเกิดจากการบูรณาการการทำงานของจังหวัดหรือท้องถิ่นและภาคเอกชนโดยเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ และมีการจัดทำแพลตฟอร์มข้อมูลเมือง (City Data Platform: CDP) เพื่อรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อการบริหารจัดการและจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ยกระดับการทำงานตอบโจทย์ 7 Smarts ประกอบด้วย สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ การดำรงชีวิตอัจฉริยะ พลเมืองอัจฉริยะ พลังงานอัจฉริยะ เศรษฐกิจอัจฉริยะ การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ ซึ่งการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความยั่งยืน พร้อมลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างอัตลักษณ์ของตนเอง โดยปัจจุบันประเทศไทยมีเมืองอัจฉริยะทั้งสิ้น 36 เมืองใน 25 จังหวัด