แนวคิดหลักการ สวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า และการกระจายอํานาจ-พรรคเพื่อไทย

 แนวคิดหลักการ สวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า และการกระจายอํานาจ-พรรคเพื่อไทย

ทันตแพทย์หญิง ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ สส.บัญชีรายชื่อและรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เข้าร่วมเสวนาในหัวข้อ “แนวคิดหลักการ สวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า และการกระจายอํานาจ” จัดโดยคณะทํางานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าเพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนพร้อมภาคีเครือข่ายเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 โดยย้ำว่ารัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย จะยังคงสานต่อนโยบายเพื่อเด็กและเยาวชน ซึ่งได้ริเริ่มไว้ตั้งแต่พรรคไทยรักไทย พร้อมเดินหน้าสวัสดิการจากรัฐ

ทันตแพทย์หญิง ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์

1. รัฐบาลพรรคเพื่อไทยยึดถือแนวคิดช่วยเหลือคนจากฐานราก ซึ่งเป็นสิ่งที่ปฏิบัติมาตั้งแต่พรรคไทยรักไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ทุกคนยืนได้ด้วยตัวเองอย่างมั่นคงและมีศักดิ์ศรี เป็นการช่วยเหลือ 2 ทาง นั่นคือการนำเงินลงไปสู่รากฐานของประเทศ และใช้โครงการขนาดใหญ่เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ ขับเคลื่อนความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจสู่ฐานราก ขณะเดียวกันก็มีโครงการขนาดย่อมสนับสนุนเช่น โครงการกองทุนหมู่บ้าน SMEs OTOP ผู้ว่าฯ CEO เพื่อพัฒนาในระดับชุมชนให้เติบโตไปพร้อมกัน

2. ในอดีตเมื่อได้ทำให้ฐานรากเริ่มยืนได้มั่นคง พรรคไทยรักไทยในขณะนั้น ได้ริเริ่มพัฒนาด้านสังคมต่อ ด้วยการตั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จากเดิมที่อยู่ในกระทรวงมหาดไทย เพื่อเน้นการดูแล เด็ก สตรี ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสอย่างใกล้ชิด พร้อมยกระดับรายได้ให้ทุกคนสามารถข้ามเส้นความยากจนและเดินหน้าสู่การผลักดันสวัสดิการโดยรัฐ หมายความว่าเป็นสวัสดิการที่รัฐจะสามารถดูแลได้อย่างทั่วถึงด้วยเงินภาษีของประชาชน โครงการในช่วงนี้จึงเป็นโครงการช่วยเหลือคนในกลุ่มใต้เส้นความยากจน จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารในปี 2549

3. รัฐบาลพรรคเพื่อไทยในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ยังยึดแนวคิดดูแลตั้งแต่ครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน ตามหลักคิดของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเน้นไปที่การดูแลเด็ก สตรีและสถาบันครอบครัว มีการแบ่งความรับผิดชอบหลายกระทรวงร่วมกันเพื่อให้บรรลุผลอย่างมีประสิทธิภาพ และที่เห็นชัดเจนคือมีการจัดตั้ง กรมกิจการเด็กและเยาวชน ภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผลงานที่ชัดเจนคือ การวางรากฐานในเรื่องสวัสดิการของเด็กแรกเกิด (0 – 6 ปี) ที่อยู่ในครัวเรือนที่มี​รายได้น้อย​ (รายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาท ต่อคนต่อปี)​ เพื่อให้เด็กได้รับการดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีพัฒนาการเหมาะสมตามวัย ซึ่งต่อมาพัฒนาสู่แอปพลิเคชัน ‘เงินเด็ก’ ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีเข้าถึง

4. สำหรับพรรคเพื่อไทยในปัจจุบันก็ให้ความสำคัญด้านเศรษฐกิจและด้านสังคมไปด้วยกัน โดยเป้าหมายไปที่ครัวเรือน ถ้าครอบครัวเข้มแข็ง ปัญหาต่างๆ ก็จะลดลง และพรรคเพื่อไทยครั้งนี้ จึงได้เน้นนโยบาย One Family One Soft-power หรือ OFOS ซึ่งเกี่ยวข้องสนับสนุนสวัสดิการเด็กถ้วนหน้าผ่านความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจจากฐานรากและสถาบันครอบครัว

5. พรรคเพื่อไทยเห็นว่า การลงทุนกับเด็กนั้นไม่ได้หมายถึงเพียงแค่มีสวัสดิการเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จะอำนวยสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อสรรค์สร้างการเจริญเติบโตของเด็กคนหนึ่ง ผลักดันให้สมาชิกในครอบครัวสามารถร่วมสร้างผลิตภาพทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้กับตนเอง ครอบครัวและชุมชน เพื่อให้ประชาชนสามารถดูแลตัวเองได้ดีขึ้น มีความภาคภูมิใจความเป็นอยู่และศักดิ์ศรีของตน และทุกสิ่งที่ทำจะหมุนเวียนกลับมาในรูปของภาษีที่จะมาดูแลสวัสดิการให้กับสมาชิกในสังคมอย่างครบถ้วน ตรงกับเจตจำนงของรัฐบาลที่ต้องการดูแลพี่น้องประชาชนให้ยืนขึ้นได้อย่างมีศักดิ์ศรีและยั่งยืน