14 ร่างกฎหมายเปลี่ยนประเทศของพรรคก้าวไกล อยู่ในมือนายกฯ เศรษฐา – ถ้านายกฯ ไม่เซ็นรับรอง จะไม่ได้เข้าสภา
แม้น่าเสียดายที่ในสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่หนึ่ง ระหว่างเดือนกรกฎาคม – ตุลาคม 2566 สภาฯ ยังไม่ได้พิจารณาหรือให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายหรือ พ.ร.บ. สักฉบับ! แต่ สส. พรรคก้าวไกล ได้เสนอร่างกฎหมายเข้าสู่กระบวนการของสภาฯ ไปแล้วทั้งหมด 31 ฉบับ
ครอบคลุมวาระทางการเมือง-เศรษฐกิจ-สังคม เช่น การปลดล็อกท้องถิ่น การคุ้มครองแรงงาน การปฏิรูปที่ดิน การปฏิรูปกองทัพ การปิดช่องทุนผูกขาด การป้องกันการทุจริต การยกระดับบริการสาธารณะ การยกระดับสวัสดิการ และการปฏิรูประบบภาษี
ในบรรดา 31 ร่าง ประกอบด้วย
(1) ร่างกฎหมายที่เป็นร่างที่ไม่เกี่ยวกับการเงินตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 134 จำนวน 17 ฉบับ เช่น พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า
จะเดินหน้าสู่การถูกบรรจุเข้าวาระการประชุมสภาผู้แทนฯ คาดว่าจะเรียงคิวเข้าสู่การพิจารณา อภิปราย และลงมติโดย สส. ในวาระที่ 1 เมื่อสภาฯ กลับมาเปิด ตั้งแต่กลางเดือนธันวาคมเป็นต้นไป
(2) ร่างกฎหมายที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นร่างการเงินตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 134 จำนวน 14 ร่าง จะยังไม่สามารถถูกบรรจุเข้าวาระการประชุมสภาฯ ได้ จนกว่าจะได้รับคำรับรองจากนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย
1. ร่าง พ.ร.บ.รับราชการทหาร (ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร)
2. ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศ คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช.
3. ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิก พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 (ยุบ กอ.รมน.)
4. ร่าง พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
5. ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์
6. ร่าง พ.ร.บ.ถนน
7. ร่าง พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตและการให้บริการแก่ประชาชน
8. ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
9. ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินรวมแปลง
10. ร่าง พ.ร.บ.ภาษีความมั่งคั่ง
11. ร่าง พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อประชาชน
12. ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (สิทธิลาคลอด 180 วัน)
13. ร่าง พ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า
14. ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง
วันนี้ (20 พฤศจิกายน 2566) พริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคก้าวไกล จึงแถลงข่าวเรียกร้องนายกฯ เศรษฐา ให้คำรับรองร่างกฎหมายทั้ง 14 ฉบับ
[ เซ็นรับรอง ไม่จำเป็นต้องแปลว่าเห็นด้วย แต่ให้โอกาสสภาเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยน ]
โดยหลักการแล้ว การที่นายกฯ ให้คำรับรองกับร่างกฎหมายการเงิน ไม่ได้หมายความว่านายกฯ หรือรัฐบาล จะต้องเห็นด้วยกับร่างดังกล่าว แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ร่างดังกล่าวถูกถกเถียงแลกเปลี่ยนกันในพื้นที่ของสภาฯ ที่มีตัวแทนจากทุกพรรคการเมืองและทุกชุดความคิด เพื่อเดินหน้าหาข้อสรุปที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ตามกระบวนการรัฐสภา
หากย้อนไปดูสถิติจากสภาฯ ชุดที่แล้ว แม้นายกฯ ประยุทธ์ รับรองให้ 59% ของร่างกฎหมายการเงินที่ถูกเสนอโดยฝ่ายค้านเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับนายกฯ ก่อนหน้า แต่ในที่สุด สส. รัฐบาล สมัยก่อน ไม่สนับสนุนร่างกฎหมายที่ถูกเสนอโดยฝ่ายค้านให้ผ่านความเห็นชอบของสภาฯ แม้แต่ฉบับเดียว ไม่นับร่างที่ถูกรวมร่างกับร่างของรัฐบาล
หรือหากนายกฯ มีความกังวลว่าร่างกฎหมายฉบับใดจะ (1) นำไปสู่การเพิ่มภาระงบประมาณที่ผูกมัดรัฐบาลมากจนเกินไป หรือ (2) ขัดกับหลักการสำคัญของนโยบายรัฐบาล นายกฯ ก็สามารถเปิดโอกาสให้ร่างดังกล่าวถูกพิจารณาในสภาฯ เพื่อให้ สส. รัฐบาล ซึ่งมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนฯ ได้ฟังเหตุผลและแลกเปลี่ยนมุมมองก่อนจะตัดสินใจลงมติว่าจะสนับสนุนหรือไม่
[ ชี้แจงข้อกังวล – พร้อมให้ข้อมูลเพิ่ม ถ้านายกฯ ต้องการ ]
เมื่อพิจารณาจากข้อกังวลที่นายกฯ อาจมีใน 2 ส่วน เราจะเห็นว่าร่างกฎหมายก้าวไกลหลายร่าง ไม่น่าจะสร้างความกังวลดังกล่าว
(1) ในส่วนของภาระงบประมาณ : แม้ 14 ร่างจะถูกตีความว่าเป็นร่างการเงินตามกฎหมาย เพราะมีการโอนถ่ายงบประมาณระหว่างหน่วยงานรัฐ แต่มีหลายร่างที่ความจริงแล้วจะเป็นการลดภาระงบประมาณของรัฐ เช่น การยุบ กอ.รมน. การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีที่ดิน การจัดเก็บภาษีที่ดินรวมแปลงและภาษีความมั่งคั่ง
รวมถึงอีกหลายร่างที่ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าจะเพิ่มภาระงบประมาณ แต่เป็นเพียงการปรับเกณฑ์และกระบวนการจัดสรรงบประมาณ เช่น การเพิ่มอำนาจท้องถิ่นในการหารายได้ หรือ การปรับโครงสร้างบริหารราชการแผ่นดิน เช่น การลดความซ้ำซ้อนในการบริหารจัดการโครงข่ายถนนทั่วประเทศ
(2) ในส่วนของความสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล : แม้ 14 ร่างต่างมีรายละเอียดในส่วนที่รัฐบาลยังไม่เคยแสดงความเห็นอย่างชัดเจน แต่หลายร่างเป็นข้อเสนอที่สอดคล้องกับทิศทางภาพรวมของนโยบายที่รัฐบาลเคยประกาศ เช่น การมุ่งสู่การยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร การยกเลิกคำสั่ง-ประกาศ คสช. การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น หรือการเปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นโฉนดอย่างเป็นธรรม
พริษฐ์และพรรคก้าวไกล จึงขอให้นายกฯ เศรษฐา พิจารณาให้คำรับรองกว่า 14 ร่างกฎหมายการเงิน ที่ถูกเสนอโดย สส. ก้าวไกลให้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนฯ ทันการเปิดสมัยประชุมสภาฯ ในวันที่ 12 ธ.ค.2566
“ไม่ใช่เพราะว่านายกฯ จะต้องเห็นดีเห็นงามกับร่างกฎหมายทุกฉบับที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล แต่เพราะนายกฯ พร้อมสร้างระบบการเมืองที่ให้ความสำคัญกับสภาผู้แทนราษฎร ในการเป็นพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนมุมมองที่แตกต่างและการหาข้อสรุปที่ทุกฝ่ายยอมรับและพร้อมเดินหน้าร่วมกัน หากนายกฯ ต้องการรายละเอียดส่วนใดเพิ่มเติม ผมและพรรคยินดีให้ข้อมูลดังกล่าวกับนายกฯ เพื่อประกอบการพิจารณา” พริษฐ์ทิ้งท้าย