• 22 พฤศจิกายน 2024

มท. เปิดรับลงทะเบียนหนี้นอกระบบวันที่ 3 รวมมูลหนี้กว่า 1,863 ล้านบาท

 มท. เปิดรับลงทะเบียนหนี้นอกระบบวันที่ 3 รวมมูลหนี้กว่า 1,863 ล้านบาท

มท. เปิดรับลงทะเบียนหนี้นอกระบบวันที่ 3 รวมมูลหนี้กว่า 1,863 ล้านบาท ประชาชนลงทะเบียนแล้ว 45,564 ราย กทม. ยังครองแชมป์ลงทะเบียนมากสุด 2,969 ราย แม่ฮ่องสอนน้อยสุด 55 ราย โดยประชาชนผู้เดือดร้อนยังคงลงทะเบียนได้อย่างต่อเนื่องในระบบออนไลน์ที่ https://debt.dopa.go.th หรือสอบถามสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 โทรฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า วันนี้เป็นวันที่ 3 ของการเปิดรับลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยจากข้อมูล เมื่อเวลา 15.30 น. มีประชาชนลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ รวมทั้งสิ้น จำนวน 45,564 ราย แบ่งเป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 44,264 ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 1,300 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 23,214 ราย มูลหนี้ 1,863.065 ล้านบาท โดยมีพื้นที่/จังหวัด 5 ลำดับแรก คือ 1. กรุงเทพมหานคร มีผู้ลงทะเบียน 2,969 ราย เจ้าหนี้ 1,779 ราย มูลหนี้ 161.817 ล้านบาท 2. จังหวัดสงขลา มีผู้ลงทะเบียน 1,938 ราย เจ้าหนี้ 1,033 ราย มูลหนี้ 87.356 ล้านบาท 3. จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้ลงทะเบียน 1,838 ราย เจ้าหนี้ 994 ราย มูลหนี้ 61.174 ล้านบาท 4. จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ลงทะเบียน 1,775 ราย เจ้าหนี้ 796 ราย มูลหนี้ 75.848 ล้านบาท 5. จังหวัดสมุทรปราการ มีผู้ลงทะเบียน 1,145 ราย เจ้าหนี้ 579 ราย มูลหนี้ 47.548 ล้านบาท และสำหรับจังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ 1. แม่ฮ่องสอน มีผู้ลงทะเบียน 55 ราย เจ้าหนี้ 23 ราย มูลหนี้ 2.022 ล้านบาท 2. ระนอง มีผู้ลงทะเบียน 91 ราย เจ้าหนี้ 42 ราย มูลหนี้ 2.471 ล้านบาท 3. สมุทรสงคราม มีผู้ลงทะเบียน 132 ราย เจ้าหนี้ 88 ราย มูลหนี้ 4.743 ล้านบาท 4. ตราด มีผู้ลงทะเบียน 143 ราย เจ้าหนี้ 43 ราย มูลหนี้ 2.036 ล้านบาท 5. สิงห์บุรี มีผู้ลงทะเบียน 159 ราย เจ้าหนี้ 79 ราย มูลหนี้ 5.399 ล้านบาท

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวอีกว่า ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐบาลได้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องเร่งบูรณาการหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้เน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการในระดับพื้นที่ ได้เป็นผู้นำการบูรณาการหนุนเสริมให้พี่น้องประชาชนได้ดำรงชีวิตโดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “หลักการพึ่งพาตนเอง” มาใช้ในชีวิตประจำวันจนเป็นวิถีชีวิต เพื่อให้ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ทั้งการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” การเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงกบ เลี้ยงปลา เพื่อที่จะได้มีความมั่นคงทางอาหาร ลดภาระค่าใช้จ่ายประจำวัน และยังทำให้ชีวิตมีความปลอดภัยจากอาหารที่ปลอดสารพิษด้วย