ก้าวไกลพร้อมส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับ เริ่มต้นที่นายก อบจ. ต้นปี 67
ย้ำเป้าหมายการกระจายอำนาจ สร้างการเติบโต-ลดทุจริต-ลดความเหลื่อมล้ำ
ในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา (18-19 พฤศจิกายน) คณะก้าวหน้าได้จัดงานสัมมนาท้องถิ่นก้าวหน้า ประจำปี 2566 โดยมีนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับตำบลที่ทำงานร่วมกับคณะก้าวหน้า พร้อมด้วย สก. และคณะผู้บริหารของพรรคก้าวไกล เข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนบทเรียนและประสบการณ์จากการทำงานในรอบกว่า 2 ปีที่ผ่านมา รวมถึงทิศทางการขับเคลื่อนการเมืองท้องถิ่นในอนาคตร่วมกัน
ในการนี้ ศรายุทธิ์ ใจหลัก ผู้อำนวยการพรรคก้าวไกล ได้กล่าวสรุปถึงทิศทางอนาคตของพรรคก้าวไกลในด้านการเมืองท้องถิ่น โดยระบุว่า เป้าหมายของพรรคก้าวไกลคือการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศ การสร้างพรรคก้าวไกลให้เป็นพรรคที่เข้มแข็งและยึดโยงกับสมาชิกพรรค และในอนาคตข้างหน้า คือการส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งในทุกระดับ
พรรคก้าวไกลจึงกำลังเร่งเดินหน้าจัดตั้งโครงสร้างตัวแทนพรรคประจำจังหวัด และตัวแทนพรรคประจำอำเภอ ที่จะรวมกันเป็นคณะกรรมการพรรคระดับจังหวัด โดยจะเป็นกลไกสำคัญในการมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรคผ่านตัวแทนในการตัดสินใจเรื่องสำคัญตั้งแต่ระดับพื้นที่ ไปจนถึงระดับชาติในที่ประชุมใหญ่ของพรรค
และที่สำคัญคือ การเป็นกลไกหลักในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น โดยในตำแหน่งสำคัญ ๆ ได้แก่ นายก อบจ. และนายกเทศมนตรีนคร คณะกรรมการพรรคระดับจังหวัดจะคัดสรรผู้สมัครร่วมกับกรรมการบริหารพรรค ส่วนในตำแหน่งอื่น ๆ เช่น นายก อบต. หรือนายกเทศมนตรีตำบล คณะกรรมการพรรคระดับจังหวัดจะมีสิทธิ์คัดสรรผู้สมัครได้ด้วยตนเอง
ศรายุทธิ์ยังเปิดเผยด้วยว่า สำหรับการเลือกตั้งนายก อบจ. ที่จะมาถึงในช่วงต้นปี 2567 นี้ จะเริ่มมีกระบวนการคัดสรรผู้สมัครให้เห็นออกมาบ้างตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมกราคม 2567 เป็นต้นไป โดยในการคัดสรรรอบนี้พรรคต้องการมั่นใจจริง ๆ ว่าผู้สมัครนายก อบจ. จะเป็นตัวแทนของพรรคได้ตามที่ประชาชนคาดหวัง เป็นคนที่มีดีเอ็นเอแบบพรรคก้าวไกลจริง ๆ
ขณะที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้รับเชิญเป็นผู้บรรยายในหัวข้อ “ความสำคัญของท้องถิ่นในการเมืองระดับชาติ” โดยระบุว่า การเมืองท้องถิ่นเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับการเมืองระดับชาติอย่างยิ่ง การเมืองท้องถิ่นซึ่งอยู่ใกล้ปัญหาที่สุดย่อมแก้ปัญหาให้ประชาชนในพื้นที่ได้ดีกว่า สส. ที่ทั้งไม่มีงบประมาณและอยู่ไกลจากปัญหา
.
แต่สิ่งที่เราเห็นทุกวันนี้คือการที่ สส. ต้องนำปัญหาในพื้นที่มาปรึกษาหารือในที่ประชุมสภาฯ ทุกครั้งเกือบสองชั่วโมง เพราะคนใกล้ปัญหาไม่มีอำนาจ ไม่มีงบประมาณ ดังนั้น การกระจายอำนาจคือสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุดสำหรับประชาชน เพื่อทำให้ท้องถิ่นมีอำนาจและงบประมาณในการแก้ปัญหาของประชาชน ส่วน สส. จะได้มีเวลามากขึ้นในการทำหน้าที่จริง ๆ คือการออกกฎหมายและตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร
พิธากล่าวต่อไปว่า ด้วยโครงสร้างที่รวมศูนย์ทุกอย่างอยู่ที่ส่วนกลาง ทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองโตเดี่ยว “ประเทศไทยคือกรุงเทพฯ กรุงเทพฯ คือประเทศไทย” อำนาจการตัดสินใจงบประมาณ อยู่กับส่วนกลางถึง 84% ท้องถิ่นตัดสินใจเองได้แค่ 16% นี่จึงทำให้ประเทศไทยต้องมีการกระจายอำนาจ
จากการเปรียบเทียบข้อมูลในระดับโลกพบว่า ประเทศที่ยิ่งกระจายอำนาจก็จะยิ่งเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจมากขึ้น ขณะที่ระดับการกระจายอำนาจกับดัชนีการทุจริตก็สอดคล้องไปในทางเดียวกัน กล่าวคือ ยิ่งประเทศเป็นประชาธิปไตย มีการกระจายอำนาจ มีกลไกการตรวจสอบที่ยึดโยงกับประชาชน และมีการเลือกตั้งในท้องถิ่นมากเท่าไร การทุจริตก็จะยิ่งน้อยลง เช่นเดียวกับเรื่องความเหลื่อมล้ำ ข้อมูลระดับโลกก็ชี้ให้เห็นว่ายิ่งกระจายอำนาจมากเท่าไร ความเหลื่อมล้ำก็จะยิ่งน้อยลงตามไปด้วย
“ผมเชื่ออย่างเต็มหัวใจว่าการปลดล็อกท้องถิ่นและการกระจายอำนาจเท่านั้นที่จะทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม ชัยชนะของทุกท่าน และความสำเร็จของทุกท่าน ก็คือชัยชนะของผมเช่นกัน” พิธาทิ้งท้าย