กมธ.เกษตรฯ เรียกดีเอสไอให้ข้อมูลคดี #หมูเถื่อน สัปดาห์หน้า
คำสั่งโยกย้ายฟ้าผ่า ให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ไปเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม จากมติ ครม. เมื่อ 28 พ.ย. ไม่ว่ารัฐบาลหรือกระทรวงยุติธรรมจะสรรหาคำอธิบายอย่างไร สังคมก็มองเห็นเหตุผลเดียวกัน คือเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับคดีลักลอบนำเข้าหมู หรือ ‘หมูเถื่อน’ ที่ DSI กำลังเดินหน้าสอบสวน
แต่นอกจากข้อสงสัยว่าทำไมต้องย้ายอธิบดี ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่รอคำตอบอยู่ด้วย
นายกฯ เศรษฐา ในฐานะ รมว.คลัง กำกับดูแลกรมศุลกากร เป็นด่านแรกที่ทำให้หมูเถื่อนหลุดเข้ามาในประเทศ จะแสดงความรับผิดชอบอย่างไรหรือไม่ต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น
ห้างค้าปลีกค้าส่งเจ้าใหญ่ที่รับซื้อเนื้อหมูเถื่อน อ้างว่ารับซื้อโดยมีเอกสารถูกต้อง นั่นแสดงว่าเอกสารดังกล่าวต้องมีหน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่
ปัจจุบันการทำลายสินค้าของกลาง คืบหน้าไปถึงไหน
[ พร้อมใช้กลไกกรรมาธิการ เรียกดีเอสไอให้ข้อมูลในสัปดาห์หน้า ]
ภายหลังมีมติ ครม. ดังกล่าว สื่อมวลชน-ภาคประชาชนก็ตั้งคำถามอย่างหนักต่อการบริหารจัดการปัญหาของรัฐบาล ว่าได้ดำเนินอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่
หนึ่งในนั้นมีภาคประชาชนที่ไม่มั่นใจการทำงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงการคลัง ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ ขอให้ใช้อำนาจตรวจสอบการทำงานของทั้ง 2 กระทรวง หลังพบพิรุธในการทำลายเนื้อหมู และผลกระทบจากการนำเนื้อหมูไปฝังกลบในพื้นที่ที่ยังไม่ได้ฟังความเห็นของประชาชน รวมถึงความไม่เป็นธรรมในการบริหารราชการของนายกฯ
ศักดินัย นุ่มหนู สส.ตราด พรรคก้าวไกล ในฐานะประธาน กมธ.เกษตรฯ ระบุว่า แม้ขณะนี้อยู่ในช่วงปิดประชุมสภาฯ แต่ยังมีกลไก กมธ. ทำหน้าที่เพื่อพี่น้องประชาชน สามารถเร่งดำเนินการตรวจสอบ นัดหมายผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง เพื่อทำเรื่องนี้ให้กระจ่างและหาคนรับผิดชอบให้ได้ โดยจะดำเนินการ 3 เรื่องสำคัญ
ตรวจสอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการนำหมูเถื่อนเข้ามาในประเทศ ว่าจะยกระดับการทำงานอย่างไร ทั้งกรมศุลกากรซึ่งเป็นด่านแรก กรมปศุสัตว์ กรมประมง
ติดตามแนวทางการทำลายเนื้อหมู หลังจาก รมว.เกษตรฯ ระบุว่าจะทำลายในทางลับ ส่งผลให้ประชาชนหลายพื้นที่ประท้วงและไม่ยอมให้ดำเนินการ
ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนรู้เห็นเป็นใจในการทำผิดกฎหมาย
ในสัปดาห์ต่อไป มีการนัดหมายดีเอสไอเข้ามาให้ข้อมูลเกี่ยวกับคดีว่าคืบหน้าไปถึงไหน เหตุใดจึงมีคำสั่งย้ายอธิบดี นอกจากนี้ กมธ.เกษตรฯ ยังกังวลผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรรายย่อย เนื่องจากการลักลอบนำเข้าหมูจากต่างประเทศ สะท้อนว่าต้นทุนการเลี้ยงหมูในประเทศไทยสูงกว่ามาก ต้องติดตามต่อว่าจะมีแนวทางบรรเทาผลกระทบในการประกอบอาชีพอย่างไร
[ ไร้อธิบดีดีเอสไอ เสี่ยงเกิดสุญญากาศการทำงาน ]
คดีหมูเถื่อนนั้น ณรงเดช อุฬารกุล สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ได้ติดตามตั้งแต่ต้น และเคยเสนอ 4 มาตรการหยุดวงจรหมูเถื่อนไปเมื่อ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา
(1) ปิดประตูไม่ให้หมูเถื่อนเข้าประเทศ ยกเลิก Green Line (คำสั่ง “ยกเว้นการตรวจ” ซึ่งตรงข้ามกับ Red Line หรือคำสั่ง “ให้เปิดตรวจ”) ในสินค้าที่มีที่มาจากประเทศที่มีประวัติเคยถูกจับกุมหมูเถื่อน ตรวจสอบเฝ้าระวังตู้สินค้าจากบริษัทชิปปิ้งที่เกี่ยวข้อง หากมีการสำแดงเป็นปลา ต้องให้กรมประมงร่วมตรวจสอบ
(2) หาหมูที่ตกค้างในประเทศ ให้กรมการค้าภายในออกประกาศ ให้ผู้ครอบครองเนื้อหมูหรือส่วนประกอบตั้งแต่ 1 ตัน ชี้แจงการครอบครองและที่มา และร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ในการตรวจสอบ
(3) เร่งดำเนินคดีและทำลายสินค้าที่ผิดกฎหมาย
(4) ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตทุกราย
การย้ายอธิบดี DSI ที่เกิดขึ้นหลังการเข้าตรวจห้างค้าปลีกค้าส่งเจ้าใหญ่ ณรงเดชมองว่าเป็นการส่งสัญญาณที่ไม่ดี ข้าราชการคนต่อไปที่มารับผิดชอบอาจกังวลว่าถ้ามีการตรวจสอบผู้ค้ารายใหญ่ จะสามารถทำงานได้เต็มที่หรือไม่ รวมถึงตอนนี้ที่ยังไม่มีอธิบดีคนใหม่ อาจทำให้เกิดสุญญากาศในการทำงาน แนวทางการทำงานหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร เช่น ที่อธิบดีคนเดิมเคยระบุว่าต้องดำเนินคดีกับห้างเจ้าใหญ่ จะยังยึดแนวทางนี้หรือไม่
ที่มา พรรคก้าวไกล