• 23 พฤศจิกายน 2024

กทม.ดูแลสุขภาพประชาชนที่รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5

 กทม.ดูแลสุขภาพประชาชนที่รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5

การเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพ จากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในปี 2567 ที่อาจมีความรุนแรงมากขึ้นว่า ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ทั้ง 69 แห่ง ได้ดำเนินการป้องกันและดูแลสุขภาพประชาชนจากปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยแจกหน้ากากอนามัย รณรงค์ให้ความรู้ คำแนะนำการปฏิบัติตนแก่ประชาชนทั่วไป และเด็กนักเรียนในโรงเรียนระดับประถมศึกษา เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากฝุ่น PM2.5 และสร้างการมีส่วนร่วมการลดฝุ่นละอองผ่านช่องทางต่าง ๆ ขณะเดียวกันได้เฝ้าระวังติดตามเป็นพิเศษประชาชนกลุ่มเปราะบางและกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ อาทิ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง เด็ก ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด และหญิงตั้งครรภ์ พร้อมทั้งจัดทีมออกหน่วยบริการสาธารณสุขเคลื่อนที่ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ หรือพื้นที่ศูนย์สุขภาพชุมชน กรณีฝุ่น PM2.5 มีค่าระหว่าง 37.6 – 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ติดต่อกัน 3 วัน โดยให้ออกหน่วยบริการสาธารณสุขเคลื่อนที่และจัดทีมปฏิบัติการลงพื้นที่ชุมชนและเยี่ยมติดตามผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ โรคผิวหนัง โรคเยื่อบุตาอักเสบ โรคหัวใจและหลอดเลือด

กรุงเทพ

นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวว่า สนพ.ได้ดำเนินการเชิงรุกร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ อาทิ สำนักงานเขต สถานีตำรวจนครบาล โรงเรียน ให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจะเน้นการเข้าถึงกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพ การสวมใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง และแจกหน้ากากอนามัยให้กับกลุ่มเปราะบางในช่วงที่มีค่าฝุ่นสูง รวมถึงรายงานสถิติผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่น ติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เพื่อปฏิบัติการออกช่วยเหลือผู้ป่วยยามจำเป็น หากมีการรายงานค่าฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

นอกจากนั้น ยังได้จัดห้องปลอดฝุ่น พัดลม และแผ่นกรองอากาศ เพื่อจัดทำพื้นที่ปลอดฝุ่น (Safe Zone) ภายในศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่คู่นมแม่ของโรงพยาบาลในสังกัด กทม.ทั้ง 11 แห่ง พร้อมแจกหน้ากากอนามัยและให้คำแนะนำการป้องกันดูแลสุขภาพในช่วงฝุ่นหนาแน่น สำหรับกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ควรเลี่ยงพื้นที่ฝุ่นสูง หรือลดระยะเวลาออกนอกอาคารให้น้อยที่สุด หากจำเป็นต้องออกนอกอาคารให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นและงดการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง รวมทั้งปิดประตูหน้าต่างให้สนิท หรืออยู่ในห้องปลอดฝุ่นและสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการไอ แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นแดง หรือมีอาการผิดปกติทางร่างกายอื่น ๆ ควรรีบพบแพทย์ทันที หรือพบแพทย์ผ่าน Telemedicine แอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการได้อย่างรวดเร็ว โดยสามารถปรึกษาเรื่องสุขภาพ โทร.1646 สายด่วนสุขภาพ สนพ.ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งได้เตรียมพร้อมรองรับการให้บริการตรวจรักษาลดความรุนแรงของอาการที่เกิดจากฝุ่น PM2.5 แก่ประชาชน โดยเปิดศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขกรณีฝุ่น PM 2.5 เกิน 75 มคก./ลบ.ม. และคลินิกมลพิษทางอากาศในโรงพยาบาล (รพ.) สังกัด กทม.