• 22 พฤศจิกายน 2024

ไอติมชี้ผลงานรัฐบาลเศรษฐา : 60 วัน ที่ผ่านมา ยังพิสูจน์อะไรยาก / 6 เดือน ข้างหน้า จะเป็นบทพิสูจน์จริง

 ไอติมชี้ผลงานรัฐบาลเศรษฐา : 60 วัน ที่ผ่านมา ยังพิสูจน์อะไรยาก / 6 เดือน ข้างหน้า จะเป็นบทพิสูจน์จริง

ที่มา พริษฐ์ วัชรสินธุ – เมื่อคืน ทางนายกฯเศรษฐา ทวีสิน ได้มีการแถลงผลงานรัฐบาลในช่วง 60 วันแรก โดยเป็นการสรุปสิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการตั้งแต่ตั้งรัฐบาลเสร็จ

นายก

แม้ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาลได้ออกหลายมาตรการลักษณะ “quick wins” ที่หวังผลระยะสั้นทันที แต่ในภาพรวม เรายังคงไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่าผลงานของรัฐบาลในห้วง 60 วันที่ผ่านมา จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงอย่าง “เป็นระบบ” และอย่าง “ยั่งยืน” ตามที่ประชาชนคาดหวังได้จริงหรือไม่

ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะทำไม่ได้หรือไม่พยายามทำ เพียงแต่ว่า 60 วัน ที่ผ่านมาอาจยังพิสูจน์อะไรได้ยาก เนื่องจากบทพิสูจน์ที่แท้จริง น่าจะขึ้นอยู่กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในช่วง 6 เดือน ข้างหน้า (ธ.ค. 66 – พ.ค. 67) ที่ผมอยากชวนประชาชนทุกคนร่วมกันจับตามอง

1. มาตรการ “quick wins” ของรัฐบาล ที่เป็นการลดค่าครองชีพ จะถูกพิสูจน์ว่ามีความยั่งยืนหรือไม่

– “ค่าไฟ” ที่ลดไปได้ด้วยการยืดหนี้ กฟผ. มีความเสี่ยงจะเด้งกลับขึ้นมาหากไม่มีปรับโครงสร้างราคา-ตลาด

– “ค่าน้ำมัน” ที่ลดไปได้ด้วยการลดภาษีสรรพสามิต จะเจอแรงกดดันหลายทางจากรายได้รัฐที่หายไปและราคาน้ำมันที่อยู่ในขาขึ้น

– “ค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย” ที่ทำสำเร็จในสายสีม่วงกับสีแดง จะถูกพิสูจน์ว่าสามารถขยายไปสู่สายที่มีผู้โดยสารใช้เยอะที่สุด (เช่น สายสีเขียว) ได้หรือไม่

2. นโยบายเรือธงที่เดิมพันสูงอย่าง “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” จะเริ่มดำเนินการและเริ่มเห็นผลลัพธ์เบื้องต้น

.

– รายละเอียดทั้งหมดของโครงการจะถูกเคาะ (เช่น เงื่อไนการใช้จ่ายของประชาชน / เงื่อนไขการแปลงเป็นเงินสดของร้านค้า / เครื่องมือหรือเทคโนโลยีที่จะใช้ – โดยหลายส่วนน่าจะรวมอยู่ในแถลงบ่ายนี้) ซึ่งจะทำให้การประเมินข้อดี-ข้อเสียนโยบาย ทำได้บนข้อมูลที่ครบถ้วน

– ในส่วนของประโยชน์ (benefits): หากเริ่มแจกได้จริงใน ไตรมาส 1 ของ 2567 ตามที่เคยสัญญา เราจะเริ่มเห็นถึงผลกระทบเบื้องต้นต่อการใช้จ่ายและการกระตุ้นเศรษฐกิจว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่

– ในส่วนของต้นทุน (costs): หากยังเป็นการให้ประชาชนทุกคน 10,000 บาท ตามที่เคยสัญญา เราจะเห็นว่างบประมาณ 560,000 ล้านบาทที่ต้องใช้ จะมาจากช่องทางไหน และแลกมาด้วยอะไร (เช่น กาปรับลดงบส่วนอื่น? ผลกระทบต่อวินัยการเงินการคลัง?)

3. นโยบายหลักด้านการเมือง จะเจอ “เส้นตาย” (deadline) ที่ทำให้เห็นการตัดสินใจของรัฐบาล

– รัฐธรรมนูญ: ภายใน ม.ค. 67 รัฐบาลจะต้องมีข้อสรุปจากคณะกรรมการศึกษาแนวทางประชามติฯ ว่าจะเดินหน้าต่อเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างไร ประชามติครั้งแรกจะเกิดขึ้นหรือไม่-ด้วยคำถามแบบไหน และรัฐบาลคาดว่าประเทศจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายในเมื่อไหร่

– เกณฑ์ทหาร: ภายใน เม.ย. 67 เราจะเห็นว่าประเทศจะยังมีเยาวชนกี่คนที่ถูกบังคับไปเป็นทหารโดยที่ไม่อยากเป็น ซึ่งจะแปรผันตามเจตจำนงของรัฐบาลในการลดหรือเลิกการเกณฑ์ทหาร

4. กฎหมาย 30+ ฉบับที่ก้าวไกลเสนอ จะเรียงกันเข้าสภาฯมาเป็น “คลื่น” ที่ทำให้รัฐบาลต้องตัดสินใจว่าจะมีจุดยืนอย่างไรในหลายประเด็นที่รัฐบาลยังไม่แสดงออก (เช่น เห็นด้วยกับร่างก้าวไกล vs. เสนอร่างของ ครม. เอง ที่แตกต่างออกไปในรายละเอียด vs. ไม่เห็นด้วยทั้งหมด)

– เช่น เมื่อ ร่าง พ.ร.บ. แผนและขั้นตอนกระจายอำนาจฯ ของก้าวไกลเข้าสภาฯ เราจะเห็นทิศทางและจุดยืนของรัฐบาลที่ชัดเจนขึ้นเรื่องการ “กระจายอำนาจ”

– เช่น เมื่อ ร่าง พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า ของก้าวไกลเข้าสภาฯ เราจะเห็นทิศทางและจุดยืนของรัฐบาลที่ชัดเจนขึ้นเรื่องการ “ป้องกันการผูกขาดทางเศรษฐกิจ”

– เช่น เมื่อ ร่าง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินรวมแปลง ของก้าวไกลเข้าสภาฯ เราจะเห็นทิศทางและจุดยืนของรัฐบาลที่ชัดเจนขึ้นเรื่องการ “ปฏิรูประบบภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ”

– เช่น เมื่อ ร่าง พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ ของก้าวไกลเข้าสภาฯ เราจะเห็นทิศทางและจุดยืนของรัฐบาลที่ชัดเจนขึ้นเรื่องการ “สร้างรัฐที่โปร่งใสและการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน”

– เช่น เมื่อ ร่าง พ.ร.บ. ระเบียบราชการกลาโหม ของก้าวไกลเข้าสภาฯ เราจะเห็นทิศทางและจุดยืนของรัฐบาลที่ชัดเจนขึ้นเรื่องการ “ปฏิรูปกองทัพให้อยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน”

5. ปฏิทินการเมืองจะมีหมุดหมายสำคัญหลายเหตุการณ์ ที่เป็นบทพิสูจน์เสถียรภาพและความเป็นเอกภาพระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล

– พ.ร.บ. งบประมาณ 2567 (ซึ่งจะพิจารณาในสภาฯช่วง ม.ค.-เม.ย. 67) จะเป็นบทพิสูจน์ว่างบประมาณจะถูกจัดสรรให้กับนโยบายของทุกพรรคร่วมรัฐบาล อย่างเป็นธรรมและเป็นที่น่าพึงพอใจของทุกพรรคหรือไม่ ภายใต้เงื่อนไขว่างบประมาณจำนวนมากต้องใช้ไปกับนโยบาย “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” ของพรรคแกนนำฯ

– การเปิดอภิปรายทั่วไปโดยฝ่ายค้าน (ไม่ว่าจะเป็น ตามมาตรา 152 ที่เป็นการซักถาม-เสนอแนะ หรือ ตามมาตรา 151 ที่มีการลงมติไม่ไว้วางใจ) คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงก่อนปิดปีแรกของการประชุมสภา (เม.ย. 67) และจะเป็นครั้งแรกของรัฐบาลชุดนี้

– การหมดอายุลงของบทเฉพาะกาลของ รธน. 2560 (ซึ่งรวมถึง อำนาจ สว. ในการเลือกนายกฯ ตาม มาตรา 272) ในเดือน พ.ค. 67 จะทำให้เงื่อนไขสำคัญที่พรรคแกนนำเคยอ้างว่าเป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องรวมตัวกับพรรคอื่นที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองหรือจุดยืนทางนโยบายที่แตกต่างกันในอดีต หายจากสมการ

ไอติม

60 วัน ที่ผ่านมา ยังพิสูจน์อะไรยาก

แต่ 6 เดือน ข้างหน้า จะเป็นบทพิสูจน์จริง